>

เกี่ยวกับเรา

ไทยสกายวาร์ด หรือ ThaiSkyward เป็นแพลตฟอร์มด้านอุตุนิยมวิทยาระดับท้องถิ่นที่มุ่งเน้นการวิจัย ออกแบบ และพัฒนาระบบอุตุนิยมวิทยาเพื่อการเกษตร ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเชิงลึก (DeepTech) ด้านการประมวลผลอากาศในพื้นที่จำกัด รวมถึงการใช้สื่อสารสนเทศหลากมิติ (Multimodalities) ของสภาพอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบันมาวิเคราะห์ ยกตัวอย่างเช่น เรดาห์ฝน ภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ลม ความชื้นและอุณหภูมิน้ำทะเล และสถิติอากาศย้อนหลัง 10 ปีของพื้นที่ เป็นต้น
ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เราพยายามที่จะเรียนรู้และเข้าใจสภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในระดับท้องถิ่น (HyperLocal) จนถึงระดับพื้นที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่เพาะปลูก (Micro climate) เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศอุตุนิยมวิทยาให้มีความทันสมัย รวมถึงส่งข้อมูล (เผยแพร่ข้อมูล) สภาพอากาศในระดับท้องถิ่นไปยังประชาชน เกษตรกร และหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย บนจุดยืนที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลและการนำส่งข้อมูลที่มีคุณค่าสู่ผู้คนในท้องถิ่นให้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

เราใช้เวลากว่า 2 ปีในการพัฒนาโครงการ อาร์โมแกน (ARMOGAN) ซึ่งเป็นระบบตรวจวัดสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม (คือตรวจทุกอย่างรอบตัวมนุษย์ซึ่งถูกครอบไว้ด้วยอากาศ) เพื่อเรียนรู้ธรรมชาติในพื้นที่หนึ่งๆ (เช่น บนหัวเราในสำนักงาน ในมหาวิทยาลัย หรือท้องฟ้าที่เหนือบ้านเรา) หากเราเก็บข้อมูลและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในพื้นที่ได้เป็นรูปแบบชัดเจน เราก็จะพยากรณ์อากาศได้แม่นยำมากขึ้นสำหรับแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้เรายังคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณะสุข คุณภาพชีวิต และพื้นฐานการวัดธรรมชาติเพื่อช่วยในการตัดสินใจทางการเกษตรด้วย ทั้งหมดนี้ถูกออกแบบ ติดตั้ง และทำงานอยู่ในภายใต้ระบบ ARMOGAN ทั้งสิ้น
เห็ด ARMOGAN เต็มรูปแบบ มีเซ็นเซอร์ที่ไม่ได้เน้นแต่เรื่องพยากรณ์อากาศเพียงอย่างเดียว โดยปกติการตรวจวัดอากาศใช้ค่าพื้นฐาน 6 ค่าคือ ค่าอุณหภูมิ ความชื้น อัตราเร็วและทิศทางลม ความกดอากาศ และปริมาณน้ำฝน แต่เห็ดน้อยตัวนี้มีเซ็นเซอร์ที่เก็บค่าได้มากถึง 21 รูปแบบ เช่น ค่าการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ (Solar Radiation) การสังเคราะห์แสงของพืช (PAR) ปริมาณก๊าชและวัตถุในอากาศที่มีความสำคัญกับทนุษย์ เช่น CO, CO2, NO2, CH4 รวมถึงฝุ่นละอองในอากาศอย่าง PM10, PM2.5 ตลอดจนปรากฏการณ์ต่างๆ บนท้องฟ้าเหนือสถานีฯ เช่น ภาพท้องฟ้า (กลุ่มเมฆ) ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกส่งข้อมูลไปยังระบบคอมพิวเตอร์ผ่านอินเตอร์เน็ต ทุกๆ 15 วินาที เมื่อมันทำงานตลอดเวลาไม่มีวันหยุดพัก ก็จะทำให้เรามองเห็นอากาศที่เคลื่อนไหวได้ทุกนาที เรานำข้อมูลไปให้ระบบสมองกลวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงและการก่อตัวของอากาศแบบต่างๆ ในพื้นที่สถานี เพื่อเรียนรู้และปรับแต่งการวิเคราะห์อากาศในท้องถิ่นให้แม่นยำมากขึ้น

ถูกต้อง ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา และทันเวลา

เป้าหมายสูงสุดของเรา คือ การสร้างแพลตฟอร์มที่เติมเต็มคำว่า เกษตรกรแม่นยำ กล่าวคือ มีความแม่นยำเพียงพอที่จะรู้เท่าทันธรรมชาติ เกิดการปรับตัวและการตัดสินใจในการประกอบกิจกรรมต่างๆ โดยมีข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและตรงตามบริบทของพื้นที่อย่างแท้จริง นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่ต้องใช้เวลา เพื่อทำตามคำมั่นสัญญาของเราให้จงได้

เพื่อนร่วมทาง

ขอขอบคุณ AIS ที่ดำเนินโครงการร่วมวิจัยและให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบอาร์โมแกนมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการส่งมอบข้อมูลที่มีคุณค่าภายใต้ความร่วมมือโครงการ Digital for Thais ร้านฟาร์มสุข และโครงการฅนกล้าคืนถิ่น มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบประเทศไทย ซึ่งเราต่างก็ต้องการมุ่งสู่ความเข้าใจธรรมชาติเพื่อการปรับตัวที่ถูกต้องไปพร้อมกัน

hello@rezonance.tech